สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ ฯ ถวายผ้าพระกฐิน


 บันทึกโดย Admin  30 ต.ค 2556



สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี


เสด็จแทนพระองค์ ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระกฐิน

ณ วัดเทพศิรินทราวาส 

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2556

เวลา 16.00 น.

ประวัติความเป็นมา การทอดกฐินหลวง

การทอดกฐินหรือการถวายผ้ากฐินเป็นกาลทานเป็นการถวายทานที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก ชื่อมหาวัคค์เรื่อง กฐินขันธกะ (หมวดว่าด้วยกฐิน) ว่าครั้งหนึ่งมีภิกษุชาวเมืองปาฐา หรือปาวาจำนวน 30 รูป ที่เดินทางมาด้วยหวังจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งประทับอยู่ ณพระเชตวัน เมืองสาวัตถี พอถึงเมืองสาเกตุอีก 6 โยชน์จะถึงเมืองสาวัตถีก็ถึงกาลเข้าพรรษาจึงต้องอยู่จำพรรษา ณ เมืองสาเกตุ ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ในระหว่างจำพรรษาอยู่นั้นก็มีความกระวนกระวายในการอยากจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคครั้นเมื่อออกพรรษาก็รีบเดินทางไปยังเมืองสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคทันทีทำให้น้ำหรือโคลนตมเปรอะเปื้อนจีวรในระหว่างเดินทางเมื่อภิกษุเหล่านั้นได้เข้าเฝ้า พระพุทธองค์ ทรงปฏิสันถารด้วยภิกษุเหล่านั้น และทรงทราบถึงความลำบากของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นจึงทรงยกเป็นเหตุมีพระพุทธานุญาตให้กรานกฐินและโปรดให้เป็นการสงฆ์ คือเป็นสังฆกรรมสำหรับภิกษุทั้งหลายทั่วไปในระยะเวลาภายหลังวันออกพรรษาแล้วหนึ่งเดือน (ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12)




ประเภทของกฐิน



พระกฐินหลวง เป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพุทธมามกะและเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภกเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เองหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้สมเด็จพระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดาเสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ รวมทั้งพระกฐินที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ราชสกุล องคมนตรี หรือผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้เสด็จฯ แทนพระองค์นำไปถวายยังพระอารามหลวงสำคัญ 16 พระอารามที่สงวนไว้ไม่ให้มีการขอพระราชทาน คือ

กรุงเทพมหานคร จำนวน 12 พระอาราม
                1.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
                2.วัดอรุณราชวราราม
                3.วัดราชโอรสาราม
                4.วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
                5.วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
                6.วัดบวรนิเวศวิหาร
                7.วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
                8.วัดสุทัศนเทพวราราม
                9.วัดราชาธิวาส
                10.วัดมกุฏกษัตริยาราม
                11.วัดเทพศิรินทราวาส
                12.วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

กฐินต้น  คือ กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชศรัทธาพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เสด็จพระราชดำเนิน ทอดถวายตามพระอารามที่ทรงพอพระราชหฤทัยโดยจะเป็นพระอารามหลวงหรือวัดชั้นราษฏร์ก็สุดแท้แต่พระราชอัธยาศัย

กฐินพระราชทาน คือ กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชบริพาร หรือหน่วยราชการต่าง ๆ นำไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวงต่าง ๆ แทนพระองค์ เช่น วัดอนงคาราม วัดกัลยาณมิตร เป็นต้น


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พล.อ.อ.กำธร สินธานนท์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ 
ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน แก่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก

กฐินราษฏร์ คือ กฐินที่ราษฏร หรือประชาชนจัดขึ้นเป็นการส่วนตัว หรือเป็นหมู่คณะ แล้วนำไปทอดถวายตามวัดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดและวัดนั้นเป็นวัดที่ราษฏรสร้างขึ้น

กฐินสามัคคี คือ กฐินที่พุทธศาสนิกชนร่วมแรงร่วมใจจัดขึ้นเป็นหมู่คณะและนำไปทอดถวายยังวัดใดวัดหนึ่ง ด้วยความพร้อมเพรียงกัน

กฐินทรงเครื่อง คือ กฐินที่มีผ้าป่าไปทอดสมทบ เรียกว่า ผ้าป่าหางกฐินมีมหรสพสมโภชน์เป็นที่ เอิกเริกสำราญใจในบุญพิธีกฐิน

กฐินโจร คือ กฐินที่เจ้าภาพนำไปทอดโดยมิได้ให้ทางวัดทราบล่วงหน้า พอผ่านไปพบวัดใดวัดหนึ่งที่ยังไม่มีกฐิน ไม่มีผู้จองกฐินจวนจะหมดเขตกฐินอยู่แล้ว ก็จู่โจมเข้าไปทอดถวายคล้ายกับโจรปล้นมิให้เจ้าของทรัพย์รู้ตัว หรือจะเรียกอีกอย่างว่า กฐินตกค้าง "กฐินโตร" คำนี้อาจเกิดจากการล้อคำที่ว่า "กฐินโจล" ซึ่งแปลว่า ผ้ากฐิน เพราะมีเสียงคล้ายกัน จึงขอยืมมาล้อในกรณีที่มีการทอดกฐินแบบจู่โจม (โดย : พระธรรมกิตติวงศ์)

จุลกฐิน คือ กฐินน้อย หมายถึง มีเวลาทำน้อยต้องทำด้วยความรีบร้อนด่วน เป็นกฐินฉุกละหุก เพราะต้องการทำทุกอย่างให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว นับตั้งแต่หาฝ้ายมาปั่นด้วยทอทำเป็นผ้า และเย็บย้อมให้สำเร็จเป็นจีวรแล้วนำไปทอดถวายสงฆ์ที่จำพรรษาในอาวาสนั้นตลอดไตรมาส หรือสามเดือน


ที่มา : http://www.watthumpra.com/kathin-5.html

ที่มา : http://www.donate.mua.go.th/katin-history.php

ผู้เข้าชม : 2345