ศธ.ฟุ้ง ''หลักสูตรใหม่'' ปรับเหลือ 6 กลุ่มสาระ 3 ปีเห็นผล


 บันทึกโดย Admin  31 ต.ค 2556

กระทรวงศึกษาธิการฟุ้งหลักสูตรการศึกษาใหม่ คาด 3 ปีเห็นผล เด็กไทยอ่านหนังสือไม่ออกน้อยลง ผลสอบโอเน็ตคะแนนเพิ่มขึ้น เชื่อเป็นพิมพ์เขียวการศึกษาที่ดี แจงไม่ได้เลียนแบบหลักสูตรจากต่างประเทศ เน้นการเรียนการสอนที่เหมาะกับคนไทย...


นอกเหนือจากประเด็นที่หลายฝ่ายกังขาเรื่อง การไม่ปรากฏหลักสูตรนาฏศิลป์ในร่างหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานฉบับใหม่แล้ว การปรับลดกลุ่มสาระการเรียนรู้ให้เหลือเพียง 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้ จากเดิมที่มีอยู่ถึง 8 กลุ่ม ยังมีคำถามจากนักวิชาการทางด้านการศึกษาที่ตั้งคำถามถึงร่างหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานฉบับใหม่ว่ามีความเหมาะสมกับเด็กไทยมากน้อยแค่ไหน? จะช่วยให้เด็กไทยมีการเรียนที่พัฒนาขึ้นมากกว่าเดิมหรือไม่?

คำถามอีกประเด็นที่นักวิชาการส่งผ่านไปยังกระทรวงศึกษาธิการ คือ แนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ระยะหลังดูเหมือนจะมีความพยายามในการลอกเลียนแบบการศึกษาจากประเทศต่างๆ ที่พัฒนาแล้ว และนำมาปรับใช้ในการศึกษาของไทย เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับระบบการศึกษาของไทยแล้วหรือ?



ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า หลักสูตรการศึกษาใหม่ก็มีทิศทางใหม่ๆ ให้เห็นพอสมควร เพื่อให้เรามุ่งเป้าไปในทิศทางที่ถูกต้องและเป็นทิศทางที่ดี จะให้พลิกโฉมทันทีคงเกิดขึ้นไม่ได้ทันที เพียงแต่จะเป็นพิมพ์เขียวในการเดินไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งกว่าเดิม

“ถ้าทำตามแผนการศึกษาของไทยจะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น คาดว่าภายใน 3 ปีจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงจากตัวชี้วัดต่างๆ เช่น เด็กอ่านหนังสือไม่ออกน้อยลง การวัดผลจากโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) ได้ลำดับที่ดีขึ้น คะแนนโอเน็ตเพิ่มขึ้น เป็นต้น แต่คงไม่สามารถพลิกโฉมแบบทันทีได้ โดยสภาพการณ์ของบ้านเราเป็นไปไม่ได้”

นอกจากนี้ยืนยันว่าหลักสูตรการศึกษาใหม่ไม่ได้เลียนแบบมาจากต่างประเทศ นักวิชาการที่พูดต้องมาดูรายละเอียดของหลักสูตรจริงๆ จึงจะรู้ว่าไม่ได้เป็นการเลียนแบบ แต่การที่จะศึกษาว่าประเทศต่างๆ เขาเรียนอะไรกันบ้าง ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ การจัดการศึกษาให้คนไทยมีคุณภาพเป็นเรื่องจำเป็น เพราะประเทศไทยไม่ได้อยู่คนเดียว เราต้องทัดเทียมนานาประเทศ


สำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ถูกปรับให้เหลือ 6 กลุ่ม ประกอบไปด้วย 1.ภาษาและวรรณกรรม 2.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและคณิตศาสตร์ 3.การดำรงชีวิตและโลกของงาน 4.ทักษะสื่อและการสื่อสาร 5.สังคมและความเป็นมนุษย์ และ 6.อาเซียน ภูมิภาค และโลก

นอกจากจะต้องปรับตารางสอนใหม่แล้ว ยังต้องมีการปรับชั่วโมงการเรียนลดลง เพื่อให้เด็กได้ใช้เวลาในการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น ทางโรงเรียนเองต้องหากิจกรรมไว้รองรับเด็ก ทั้งกลุ่มเด็กที่เรียนดีอยู่แล้ว และกลุ่มเด็กที่เรียนช้า

ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าในปี 2557 ที่จะถึงนี้จะเริ่มใช้หลักสูตรการศึกษาใหม่ แต่จะเป็นช่วงเวลาใดนั้นขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่จะต้องรับรองหลักสูตรและเห็นชอบในการดำเนินการต่อไป ซึ่งก็ต้องจับตามองกันต่อไปว่าหลักสูตรการศึกษาใหม่จะช่วยพัฒนาการศึกษาไทย มากน้อยแค่ไหน??

 

 

ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 30 ตุลาคม 2556

ผู้เข้าชม : 1068