เนื้อหา
เพลงโหมโรงเทพศิรินทร์สามชั้นนี้ได้แต่งขยายขึ้นจากเพลงตระเทวาประสิทธิ์ ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์มีความยาว 2 ท่อน ท่อนละ 4 จังหวะ ใช้บรรเลงในพิธีไหว้ครูสำหรับอัญเชิญเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเมื่อครูอุทัย แก้วละเอียดได้แต่งขยายขึ้นเป็นอัตราสามชั้นแล้ว ท่านได้ดัดแปลงทำนองเพลงเป็น 4 ท่อน ในท่อนที่ 3 และท่อนที่ 4 ยังคงใช้โครงสร้างของเพลงท่อนที่ 1 และท่อนที่ 2 ตามเดิม โดยให้ท่อนที่ 3 มีสำเนียงเป็นฝรั่งใช้หน้าทับพิเศษในจังหวะมาร์ชสำหรับลีลาของทำนองเพลงมีลักษณะการบรรเลงอยู่หลายลักษณะทั้งทางกรอ ทางเก็บ ลูกล้อ-ลูกขัดลูกนำ-ลูกตาม ลูกเหลื่อม คละเคล้ากันไปทำให้เพลงสื่ออารมณ์ต่างๆ ได้หลายแบบ เช่น ไพเราะอ่อนหวาน สงบเยือกเย็น สง่างาม สดชื่นผสมกับอารมณ์สนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจ ซึ่งมีความสอดคล้องสนิทสนมกลมกลืนโดยตลอดทั้งเพลง
ความหมาย
ทำนองเพลงในท่อนที่ 1 และท่อนที่ 2 มีสำเนียงไพเราะอ่อนหวาน ให้ความรู้สึกสงบเยือกเย็นซึ่งหมายถึง การสักการะบูชาน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทำนองเพลงในท่อนที่ 3 และท่อนที่ 4 โดยเฉพาะในท่อนที่ 3 มีสำเนียงเป็นฝรั่งหมายถึง โรงเรียนเทพศิรินทร์มีความผูกพันกับชาวต่างประเทศ ด้วยมีชาวต่างประเทศมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนอยู่หลายท่าน อีกทั้งรูปแบบการก่อสร้างตัวอาคารเรียนยังได้ผสมผสานศิลปะแบบกอธิค ซึ่งเป็นศิลปะแบบตะวันตกเข้าไว้อีกด้วย เป็นความอ่อนน้อมอันแฝงด้วยความเข้มแข็งสง่างามสมกับเพลงประจำโรงเรียนความตอนหนึ่งว่า “ณ เทพศิรินทร์ ณ เทพศิรินทร์ สถานสิขา สง่าพระนาม”